วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ข่าวน้ำท่วม

 นิตยสาร “ไทม์” เผย กระแสน้ำเข้าใกล้หัวใจทางประวัติศาสตร์



        นิตยสาร “ไทม์” เผย กระแสน้ำเข้าใกล้หัวใจทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ ทั้งพระบรมหาราชวัง และวัดเก่าแก่ริมฝั่งเจ้าพระยา ทั้งยังระบุว่ารัฐบาลและฝ่ายค้านรวมทั้งผู้สนับสนุน ยังทะเลาะเบาะแว้งกล่าวโทษซึ่งกันและกัน ขาดแผนบริหารจัดการน้ำที่เป็นเอกภาพ...
        นิตยสาร “ไทม์” รายงานเกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด โดยระบุว่ากระแสน้ำเริ่มไหลเข้าใกล้หัวใจทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ โดยเมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 28 ต.ค. ระดับน้ำที่นอกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวังเดิม ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สูงถึงหัวเข่าแล้ว นอกจากนี้ ยังมีวัดและวังเก่าแก่อีกมากมายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงมีพระราชกระแสผ่านผบ.ทบ.ว่า ไม่โปรดให้ป้องกันพระราชฐานเป็นพิเศษ ปล่อยให้น้ำไหลตามธรรมชาติ
        ด้านกองทัพไทยสัญญาว่าจะสนธิกำลังทหาร 50,000 นายเพื่อเบี่ยงเบนทางน้ำและช่วยประชาชนอพยพ ขณะท่ีภาครัฐกระตุ้นให้ประชาชนทิ้งกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด ไทม์เผยด้วยว่า นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมทั้งผู้สนับสนุน ยังทะเลาะเบาะแว้งกล่าวโทษซึ่งกันและกัน ขณะท่ีทหาร พระสงฆ์ และอาสาสมัครหลายพันคนเร่งทำงานเพื่อพยายามยกระดับพนังกั้นน้ำ และแจกจ่ายอาหารและเครื่องบรรเทาทุกข์อื่นให้ผู้ประสบภัย




  



       รายงานของไทม์ระบุด้วยว่า รัฐบาลไทยสัญญาว่าจะสอบสวนสาเหตุของน้ำท่วมเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ทั้งยังให้ความมั่นใจนักลงทุนต่างชาติ ว่ารัฐบาลจะกำหนดแผนงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องโรงงานและเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต แต่หนังสือพิมพ์ของไทยบางฉบับเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ว่า ถึงแม้รัฐบาลไทยจะทุ่มงบประมาณกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( กว่า 150,000 ล้านบาท) ในช่วงปี 2548 ถึง 2552 เพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่ไร้ประสิทธิภาพ และประเทศไทยยังคงขาดแผนบริหารจัดการน้ำที่เป็นเอกภาพ.



อัพเดทน้ำท่วม 28 ตุลาคม 54



        น้ำทะลักล้นกำแพงสนามบินดอนเมืองเข้าอาคารวีไอพี เสียหายยาวกว่า 100 เมตร โชคดีรถยนต์ไม่ได้รับความเสียหาย เจ้าหน้าที่ระดมกำลังแก้ไข...
        เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 28 ต.ค. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริเวณรั้วของท่าอากาศยานดอนเมืองที่เป็นแนวกันน้ำจากถนนวิภาวดีรังสิต ได้เกิดการทรุดตัวลงมา เนื่องจากกำแพงเกิดการร้าวประมาณ 100 เมตร ขณะที่แนวกำแพงเหล็กที่กั้นน้ำอยู่ได้ทรุดตัวลงทำให้น้ำที่อยู่ภายนอกไหลล้นทะลักเข้ามา โดยที่น้ำไหลเข้าท่วมในบริเวณนั้นทำให้อาคารวีไอพีระหว่างประเทศของสนามบินดอนเมืองมีน้ำไหลเข้ามาจำนวนมาก และยังทำให้กำแพงเกิดความเสียหายหนักขึ้นมาอีกจากการที่มีรถจีเอ็มซีของทหารขับฝ่าน้ำเข้ามา ทำให้คลื่นที่เกิดจากการวิ่งซัดกระทบกำแพง ซึ่งล่าสุดเจ้าหน้าที่การท่าอากาศยานได้ระดมกำลังในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่สำเร็จ
 
        รายข่าวแจ้งว่า จากการที่น้ำไหลมาบริเวณดังกล่าวได้สร้างความเสียเล็กน้อยในบริเวณนั้น เนื่องจากมีรถของประชาชนที่มาจอดอยู่เพียงไม่กี่คัน อีกทั้งบริเวณพื้นที่กำแพงแตกยังมีบริเวณที่กว้าง ทำให้ระดับน้ำที่ไหลเข้ามายังไม่ท่วมขังแต่อย่างใดในบริเวณของอาคาร.



        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 28 ต.ค. ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.02) แจ้งประชาสัมพันธ์ปิดการจราจรน้ำท่วมขังและมวลน้ำไหลเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีรายละเอียดดังนี้
พื้นที่ด้านทิศเหนือ
1 ถ.วิภาวดีรังสิต ขาเข้า ปิดการจราจรตั้งแต่แยกอนุสรณ์สถาน ถึงแยกหลักสี่ ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกหลักสี่เป็นต้นไป
2 ถ.พหลโยธิน ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกอนุสรณ์สถาน ถึงพหลโยธิน 50 (ห้างบิ๊กซี พหลโยธิน)
3 ถ.กำแพงเพชร 6 (ถ.โลคัลโรด) ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่หน้าหมู่บ้านเมืองเอก ถึงแยกการเคหะทุ่งสองห้อง
4 ถ.สรงประภา ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกศรีสมาน ถึงแยก กสบ.
5 ถ.เชิดวุฒากาศ ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตลอดสาย
6 ถ.เวฬุวนาราม (วัดไผ่เขียว) ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตลอดสาย
7 ถ.เลียบคลองสอง ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกพลาธิการกองทัพอากาศ ถึงแยกสะพานปูน
8 ถ.จันทรุเบกษา ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยก รร.นายเรืออากาศ(คปอ.) ถึงแยกจันทรุเบกษา
 
สำหรับพื้นที่ ด้านทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร เริ่มที่
1. ถ.จรัญสนิทวงศ์ ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกบางพลัด ถึงสะพานพระราม 7
2. ถ.สิรินธร ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกบางพลัด ถึงทางต่างระดับสิรินธร
3. ถ.อรุณอัมรินทร์ ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกอรุณอัมรินทร์ ถึงแยก รพ.ศิริราช
4. ถ.บรมราชชนนี ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าถึงทางต่างระดับสิรินธร (สายใต้เก่า)
5. ถ.บรมราชชนนี (พุทธมณฑล) ขาเข้า-ขาออก ปิดการจรารตั้งแต่แยกพุทธมณฑล สาย 3 ถึงแยกพุทธมณฑล สาย 4
6. ถ.อุทยาน ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตั้งแต่แยกอุทยาน ถึงแยกพุทธมณฑลสาย 3
7 ถ.ศาลาธรรมสพน์ ขาเข้า-ขาออก ปิดการจราจรตลอดสาย



        "สุขุมพันธุ์ บริพัตร" เผยปริมาณน้ำจากภาคเหนือเริ่มไหลเข้าพื้นที่เขตบางเขน เน้นประชาชนเตรียมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนแขวงทวีวัฒนา  กทม.จับมือกองทัพเรือเร่งกู้คลองมหาสวัสดิ์ คาดเสร็จภายในวันพรุ่งนี้ พร้อมยินดีน้อมรับแนวคิดเจาะถนน 5 เส้นของ ศปภ. แต่ขอให้แจกแจงรายละเอียดให้ชัดเจน...
        เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ณ ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ แถลงถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ กทม.ว่า ยังมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อรวมกับระดับน้ำทะเลหนุนในช่วงเช้าวันนี้ ทาง กทม.ได้ทำการตรวจวัดที่บริเวณพื้นที่ปากคลองตลาด พบว่ามีระดับน้ำสูงถึง 2.45 เมตร ชัดเจนถึงแม้ว่ายังไม่ถึงระดับแนวเขื่อนตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาความสูง 2.5 เมตร แต่คาดว่าในวันพรุ่งนี้ (29 ต.ค.) ระดับน้ำทะเลหนุนสูง เมื่อผนวกกับระดับน้ำในแม่น้ำดังกล่าวจะสูงประมาณ 2.5 - 2.6 เมตร จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ช่วยกันเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ประกอบกับในช่วงเช้าขณะลงพื้นที่ ก็เป็นห่วงชาวบ้านที่กำลังเล่นน้ำ หรือกำลังนำเบ็ดมาตกปลา เพราะความปลอดภัยต้องมาก่อน อย่างไรก็ตาม ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลอย่างเต็มที่
 
        ขณะเดียวกัน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ กล่าวต่อว่า ระดับความสูงของน้ำทุ่งนั้น อาทิ คลองสูง มีความสูงมากขึ้นกว่าเมื่อวานประมาณ 8 ซม. ส่วนคลองทวีวัฒนา วันนี้ความสูงของระดับน้ำนอกแนวป้องกันอยู่ที่ 2.52 เมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานถึง 14 ซม. คลองเปรมประชากร ปริมาณน้ำได้ไหลล้นตลิ่งบริเวณ สน.ดอนเมือง ทำให้สถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ปริมาณมวลน้ำจากภาคเหนือ เริ่มไหลเข้าเขตบางเขน ดังนั้นทาง กทม.จึงขอประกาศให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ หลังจากที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้ และขอให้ประชาชนที่อยู่ในเขตดังกล่าวเฝ้าระวังติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
พนังกั้นน้ำริมคลองพระโขนงพัง น้ำทะลักเข้าสุขุมวิท48,50



        เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุพนังกั้นน้ำในบริเวณชุมชนสมาคมหิมะทองคำ ซึ่งอยู่ริมคลองพระโขนงพังเสียหายเป็นระยะทาง 10 เมตร เนื่องจากมีสภาพเก่ามาก ทำให้น้ำล้นทะลักเข้าซอยสุขุมวิท 48 จนล่าสุดน้ำเอ่อถึงซอยสุมขุมวิท 50 และท่วมชุมชนชุมชนเปรมฤทัย และเริ่มเจริญ กินพื้นที่ประมาณ 500 เมตร โดยระดับน้ำสูง 20-30 เซนติเมตร ขณะที่เจ้าหน้าที่จากสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เร่งเข้าไปซ่อมแซมจุดที่พังแล้ว ส่งผลให้น้ำเริ่มลดลงแล้วเช่นกัน
        นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กล่าวยืนยันถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าเกิดเหตุพนังกั้นน้ำริมคลองพระโขนงพัง เป็นแนวยาวประมาณ 10 เมตร ทำให้ช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำได้ไหลทะลักเข้ามา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการซ่อมแซม โดยเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ และทหารจาก ม.พัน 1 รอ. จำนวน 50 นาย ช่วยกันนำกระสอบทรายอุดรอยแตก และพบว่าล่าสุดในช่วงสาย ระดับน้ำได้ลดลง เนื่องจากน้ำในคลองพระโขนงได้ลดลง รวมทั้งน้ำที่ไหลท่วมพื้นผิวถนนได้ไหลลงท่อไปคลองบางจากแล้ว และยังไม่มีน้ำไหลเข้ามาเพิ่มเติมอีก คาดว่าการซ่อมแซมจะเสร็จทันก่อนที่จะถึงช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนอีกครั้งในตอนเย็นวันนี้



        ด้านนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ผู้อำนวยการเขตพระโขนง กล่าวว่า เขตพระโขนงก็ได้รับผลกระทบจากกรณีที่พนังกั้นน้ำริมคลองพระโขนง ซึ่งอยู่เขตของสำนักงานเขตคลองเตยชำรุด ส่งผลให้น้ำรั่วและซึมเข้ามา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เร่งไปอุดรอยรั่วและน้ำหยุดเข้ามาแล้ว แต่ยังมีน้ำขังอยู่บ้าง ขณะนี้กำลังเร่งสูบน้ำออก.
ภาพน้ำท่วมคลองหลวงล่าสุด





 
 

กรุงเทพเริ่มวิกฤต


 

        น้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เอ่อเข้าท่วมหลายพ้ืนที่ของกรุงเทพมหานคร โดยน้ำได้เข้าท่วมถึงฟุตปาทหน้าโรงพยาบาลเลิดสินแล้ว ขณะที่วัชรพลน้ำสูงเกือบหัวเข่า ส่วนถนนวิภาวดีรังสิต เช้าวันนี้น้ำยังคงแค่วัดหลักสี่...
        เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเอ่อเข้าท่วมหลายพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณแยกศิริราช ถึงท่าน้ำวังหลัง และถนนอรุณอัมรินทร์บางส่วน ระดับน้ำสูงประมาณ 15 เซนติเมตร ทหารเร่งก่อกระสอบทรายความสูง 2.80 เมตร ปิดทางเข้าออก รพ.ศิริราช ป้องกันน้ำไหลทะลักเข้าท่วม ขณะที่พื้นที่สนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถนนหน้าศาลฎีกา น้ำได้เอ่อขึ้นมาแล้วเช่นกัน ไม่แตกต่าง ที่ถนนเจริญกรุง น้ำได้ไหลเข้าย่านเยาวราชแล้วบางส่วน สถานีตำรวจจักรวรรดิ โรงพยาบาลเลิดสิน ห้างโรบินสันบางรัก น้ำได้ท่วมถนนบริเวณฟุตปาทแล้ว



        ส่วนพื้นที่เขตสายไหม น้ำท่วมเกือบเต็มพื้นที่ บางจุดถึงแค่หัวเข่า แต่บางจุดสูงถึง 1 เมตร ส่วนที่วัชรพล น้ำท่วมถนน และชุมชนรอบข้างบ้างแล้ว โดยระดับน้ำสูงถึงหัวเข่า แต่ยังไม่ท่วมถึงบ้านจัดสรร เนื่องจากหมู่บ้านจัดสรรส่วนใหญ่ ได้ยกพื้นสูงกว่าถนนประมาณ 1 เมตร สำหรับถนนวิภาวดีรังสิต เช้าวันนี้น้ำยังคงแค่วัดหลักสี่ แต่น้ำท่วมสูง มีขยะลอยมาด้วยจำนวนมาก มีกล่ินเหม็น และเป็นสีดำ ส่วนระดับน้ำบนถนนวิภาวดีรังสิต บางส่วนสูงถึง 1.50 เมตร



สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครปฐม วิกฤต ระดับน้ำสูง 50 ซม. - 2 เมตร ทหารเร่งนำรถมาช่วยประชาชน อพยพออกนอกพื้นที่...
        สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม น้ำที่ไหลบ่าจาก อ.ไทรน้อย จ.อยุธยา จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี ที่ไหลผ่าน ต.คลองโยง เข้าสู่ ศาลายา พุทธมณฑล อย่างรวดเร็วเมื่อช่วง 23.30 น.ของวันที่ 26 ต.ค.54 ทำให้พื้นที่ดังกล่าว กลายเป็นเมืองบาดาลอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำสูง 50 ซ.ม.ถึง 1 เมตร ถนนสายคลองโยง-ศาลายา และถนนพุทธมณฑลสาย 5 ม.ราชมงคล-ศาลายา ซึ่งมีหน่วยราชการและมหาวิทยาลัยหลายแห่งบนถนนเส้นนี้ เช่นสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รร.ช่างสิบหมู่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา เกือบทั้งสายจมน้ำ รถไม่สามารถวิ่งผ่านไปมาได้ ต้องปิดถนน อำเภอต้องประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ อ.ศาลายา อพยพโดยด่วน
 
        นอกจากนี้ในตัวเมืองพุทธมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจร้านค้าจำนวนมากยังถูกน้ำท่วม มีหลายรายที่ขนของกันไม่ทัน ต้องปล่อยให้จมน้ำ ส่วนที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดหมู่บ้านพฤกษา 34 ต.ศาลายา ปรากฎว่าน้ำได้เข้าท่วมทั่วพื้นที่กว่า 1 เมตร ต้องระดมทหารจากกรมยุทธศึกษาทหารเรือ นำรถ จี. เอ็ม.ซี.จำนวนกว่า 30 คัน และเรือท้องแบนเข้ารับผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านให้ออกมายังที่พักพิง ภายใน ม.มหามงกุฎราชวิทยาลัย ศาลายา ซึ่งมีหอพักสร้างใหม่เป็นที่รองรับ โดยใช้อาคารหอพักปัญญา มี 7 ชั้น สามารถรองรับผู้อพยพได้จำนวน 500 คน แต่ปรากฏว่ามีผู้อพยพเข้าอยู่ถึง 670 คน ต้องแบ่งห้องให้อยู่รวมกัน จนทาง ม.มหามง กุฎ ต้องติดป้ายว่าเต็ม เพราะเกรงว่าจะเป็นการแออัดเกินไป จนทหารต้องนำผู้อพยพที่ขนมา แยกย้ายกันไปไว้ยังที่พักพิงแห่งอื่น ซึ่งมีอีก 10 แห่ง



        นอกจากน้ำจะเข้าท่วม อ.พุทธมณฑล จมน้ำแล้วยังไหลซึมออกตามท่อระบายน้ำเข้าท่วมถนนสายหลักพระบรมราชชนนี ระหว่างพุทธมณฑล สาย 4-5 น้ำยังเข้าท่วมถนนกว่า 30 ซ.ม.ทำให้การจราจรที่มุ่งหน้าเข้านครปฐม ลงสู่ภาคใต้และเป็นถนนเส้นทางไปเหนือ รถยนต์เล็กไม่สามารถวิ่งผ่านไปได้ ตร.จราจร สภ.พุทธมณฑล ต้องทำงานกันอย่างหนักระบายรถให้ไปใช้เส้นทางถนนเพชรเกษม ทำให้การจราจรติดขัด

        
นอกจากนี้น้ำที่ไหลบ่าเข้า อ.พุทธมณฑล ยังทำให้พื้นที่ติดต่อกับคลองโยง ตั้งแต่ อ.บางเลน อ.นครชัยศรี อ.สามพราน ถนนหลายสายต้องถูกตัดขาดไปด้วย เนื่องจากน้ำจากคลองโยง พุทธมณฑล ต้องระบายลงแม่น้ำท่าจีน ทำให้แม่น้ำท่าจีนน้ำล้นทะลัก เข้าท่วมถนน เช่นถนนสายห้วยพลู-บางพระ ถูกน้ำตัดขาด ต้องใช้เจ้าหน้าที่คอยโบกและเขียนป้ายเส้นทางห้ามเข้าหลายสาย น้ำยังเข้าทำลายสวนกล้วยไม้ในพื้นที่ อ.สามพราน ได้รับความเสียหาย ฟาร์มกล้วยไม้หลายแห่งจมน้ำ โดยหลังจากที่ศูนย์อำนวยการดดดตภัย จังหวัดนครปฐม ได้รับรายงาน จึงได้ประสานขอความร่วมมือ ไปยังภาคเอกชนและหน่วยกาชาดสากล นครปฐม จัดถุงยังชีพ ไปให้ความช่วยเหลือ โดยขอรับบริจาคและตั้งโรงครัวสำหรับผู้อพยพ



        พร้อมทั้งขอเชิญชวนประชาชนอาสาสมัคร จิตอาสาเป็นแรงช่วยเข้ามาดูแล และให้การช่วยเหลือผู้อพยพ เพื่อให้เป็นระบบ ทั้งนี้ทาง ร.พ.ศูนย์นครปฐม ได้จัดแพทย์อาสาออกให้ความช่วยเหลือตรวจรักษาผู้อพยพและแจกยาให้ฟรี ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มาขอรับการรักษามากมาย ซึ่งมีอยู่ 1 ราย นางแป้น ทรัพย์พญา อายุ 67 ปี ซึ่งเป็นอัมพฤกษ์ บ้านอยู่หมู่ 5 ต.ศาลายา นอนป่วยอยู่คนเดียวภายในบ้าน ซึ่งบ้านถูกน้ำท่วมชั้นล่างจนมิด ต้องหนีขึ้นไปอยู่ข้างบน มีชาวบ้านใกล้เคียงแจ้งให้ทหารเรือทราบ และได้นำเรือท้องแบนไปรับตัวอย่างทุลักทุเล มาไว้ที่ศูนย์พักพิง ม.มหามกุฎราชวิทยาลัย ด้วย


  
 
'บางพลัด'วิกฤติ น้ำสูงต่อเนื่อง บางจุดสูงกว่าเมตร

        ย่านบางพลัดยังวิกฤติ น้ำยังเพิ่มระดับต่อเนื่อง บางจุดสูงกว่า 1 เมตร ขณะที่ประชาชนบางส่วนยังห่วงข้าวของ ไม่ยอมอพยพออก แต่อาศัยอยู่บนชั้น 2 ของบ้านจำนวนมาก...
        เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เขตบางพลัด ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำมีระดับสูงถึง 1.07 เมตร ในช่วงเช้าเวลาประมาณ 06.00 น. น้ำลงสูงสุดเวลา 15.00 น. ระดับน้ำประมาณ 70 เซนติเมตร และระดับน้ำยังคงเพิ่มปริมาณอย่างต่อเนื่อง กระแสน้ำยังคงไหลแรง จากฝั่งซอยจรัญสนิทวงศ์ 74-80 ข้ามผิวถนนมายังบริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 79-87 โดยประชาชนในพื้นที่ได้อพยพออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่ยังคงมีประชาชนบางส่วนอาศัยอยู่บนชั้นสองของบ้าน ส่วนร้านค้าบริเวณใกล้เคียงทยอยปิดไปบ้างแล้ว ยังคงเหลือห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส ที่ยังคงเปิดบริการอยู่ ซึ่งบริเวณชั้น 1 ของห้าง ถูกใช้เป็นศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ของกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และยังคงมีประชาชนเข้ามาจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมาก

 
        ทั้งนี้ สถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว ยังคงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำขึ้นลงตามเวลา ในด้านการจราจร ปริมาณน้ำบนผิวถนนอยู่ในระดับ 0.80-1 เมตร ทำให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ ขณะนี้มีเพียงรถขนาดใหญ่ของทหาร และโรงพยาบาลยันฮี ออกช่วยเหลือประชาชนในการสัญจรและขนย้ายข้าวของ ซึ่งการปิดการจราจรเริ่มตั้งแต่บริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 71 จนถึงบริเวณเชิงสะพานพระราม 7
เปิดชื่อ19เขตกทม. “รอดน้ำท่วม“
        นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยในรายการ เจาะข่าวเด่น ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ถึงการระบายน้ำท่วมในกทม. โดยระบุว่า เขตที่จะรอดจากน้ำท่วม 19 เขตคือ บางขุนเทียน บางบอน ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ จอมทอง ภาษีเจริญ วัฒนา ดินแดง สาทร ราชเทวี พญาไท ปทุมวัน ป้อมปราบฯ สวนหลวง ประเวศ ห้วยขวาง วังทองหลาง บางซื่อ บางกอกน้อย
        3 เขตเสี่ยง ได้แก่ สะพานสูง บางกะปิ บึงกุ่ม ที่อยู่ริมคลองแสนแสบ จากเปิดคลองสามวา ประชาชนที่อยู่ ตามแนวริมคลองจะได้รับผลกระทบมากกว่า
        11 เขตที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำขึ้น-ลงของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางรัก บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย พระโขนง คลองสาน บางกอกใหญ่ บางนา
        5 เขตกทม. ที่ต้องรับน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ คลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง หนองจอก บางแค และ 7 เขต ที่ต้องได้รับผลกระทบรุนแรงคือ ดอนเมือง บางพลัด สายไหม ทวีวัฒนา หลักสี่ บางเขน ตลิ่งชัน โดยกทม.พยายามจะยันพื้นที่ เขตห้วยขวาง วังทองหลางให้มากที่สุด
......................................................................................................
อัพเดทน้ำท่วม 31 ตุลาคม 54
        ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศอพยพ "แขวงบางไผ่ เขตบางแค" เกรงน้ำจะเข้ามาถึงถนนเพชรเกษมภายในคืนนี้ หรือพรุ่งนี้(1 พ.ย.) จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยันเปิดประตูคลองสามวาได้แค่ 80 ซม.เท่านั้น ถ้าจะเปิด 1 ม.นายกฯ ต้องลงลายลักษณ์อักษรมาถึง...
        เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ศูนย์ก่อสร้าง และบูรณะ 4 เขตบางแค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ในเขตบางแคมีน้ำท่วมสูงมาก กทม.จึงตัดสินใจประกาศให้แขวงบางไผ่ เขตบางแค เป็นพื้นที่อพยพอีกแห่งหนึ่ง เนื่องจาก กทม.เกรงว่าน้ำจะเข้ามาถึงถนนเพชรเกษม เขตหนองแขม ภายในคืนนี้ หรือในวันที่ 1 พ.ย. จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

        ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันตกมีความไม่แน่นอนสูงมาก สถานการณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซึ่งในเขตตลิ่งชันน้ำยังไม่นิ่ง หากน้ำไม่มาเพิ่มจะสามารถเข้าสู่ระบบการระบายน้ำของ กทม. คาดว่าน้ำจะลดอย่างเห็นได้ชัดใน 3-4 วัน และจะแห้งภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่ง กทม.ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการช่วยเร่งระบายน้ำออกแม่น้ำท่าจีน ส่วนกรณีความขัดแย้งการเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวานั้น ทาง กทม.มีภารกิจสำคัญในการป้องกันเขตนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ตามคำสั่งของ ศปภ. ดังนั้น กทม.จะไม่ยอมเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาเพิ่มขึ้นถึง 1 เมตร เพราะเป็นการเสี่ยงเกินไป โดยขณะนี้เปิดได้กว้างสุด 75-80 ซม. เท่านั้น

        "ก่อนหน้านี้นายกฯ ได้มีคำสั่งให้ กทม. ปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยมีคำสั่งเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษร ดังนั้นหากต้องการให้เปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาเพิ่มเป็น 1 เมตร ก็ต้องมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรมาเช่นกัน ไม่ว่าความกดดันจะมีมากแค่ไหน ผมไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ผมต้องทำตามคำบัญชาที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน จึงจะทำตาม" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว.

        สถานการณ์น้ำล่าสุดบริเวณหมู่บ้านเสนานิเวศน์ ภายในซอยเสนานิคม เขตลาดพร้าว น้ำได้ผุดจากท่อระบายน้ำเอ่อท่วมถนนภายในหมู่บ้านแล้ว โดยจุดที่ต่ำนั้นระดับน้ำสูงถึงประมาณ 20 ซ.ม. โดยชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า น้ำได้เริ่มเอ่อจากท่อระบายน้ำขึ้นมา ในช่วงเช้าที่ผ่านมา จากนั้นก็เพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
        ขณะเดียวกัน ที่บริเวณถนนเกษตร-นวมินทร์ ช่วงบริเวณใต้สะพานกลับรถบางบัวนั้น น้ำจากคลองบางบัวได้เอ่อล้นเข้าท่วมบริเวณดังกล่าว สูงประมาณ 40-50 ซ.ม. ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำแผงเหล็กมาวางกั้นเพื่อไม่ให้รถผ่านเข้าไปกลับรถได้แล้ว เนื่องจากระดับน้ำสูงอย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่อยู่ภายในบริเวณนี้และใกล้เคียง ต่างพากันออกมาสังเกตการณ์ระดับน้ำ กันอย่างต่อเนื่องรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.โคกคราม ที่ออกมาตรวจตราระดับน้ำ และความเรียบร้อยของรถยนต์ที่ประชาชนนำมาจอดหนีน้ำบนสะพานข้ามคลองดังกล่าว
        ขณะที่ นายบพิตร แสงแก้ว ผอ.เขตลาดพร้าว กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เขตลาดพร้าว ว่า ขณะนี้ทางเขต ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะมีน้ำไหลทะลักเข้าท่วม โดยทางเขต ได้ซ่อมเสริมแนวคันกั้นน้ำเพื่อสมบูรณ์แข็งแรงยิ่งขึ้น พร้อมเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ 3 เครื่อง เพื่อระบายน้ำออก หากสถานการณ์รุนแรง ก็คงต้องเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน ทางเขตได้เตรียมการ โดยมีศูนย์พักพิงใน 6 โรงเรียน ได้แก่ ร.ร.วัดลาดพร้าว ร.ร.วัดลาดปลาเค้า ร.ร.เทพวิทยา ร.ร.คลองทรงกระเทียม ร.ร.เพชรถนอม และ ร.ร.ลอยสายอนุสรณ์ ซึ่งทางเขตได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา
        สำหรับสถานการณ์น้ำคลองลาดพร้าวล่าสุด (31 ต.ค.) เวลาประมาณ 20.00 น. น้ำยังคงเพิ่มระดับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเหลืออีกเพียง 3-4 ซม. น้ำจะเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งทางเ้จ้าหน้าที่ได้เฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ
        พนังกั้นน้ำคลองพระโขนง บริเวณหมู่บ้านเปรมฤทัย ซ.สุขุมวิท 50 พังลงอีกครั้งมีความกว้างประมาณ 10 เมตร ส่งผลกระทบต่อ หมู่บ้าน และพื้นที่ใกล้เคียง ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเร่งซ่อมเพื่อไม่ให้ส่งผลในวงกว้าง ผอ.เขตคลองเตย ระบุ ยังบอกไม่ได้ว่าจะซ่อมแซมเสร็จเมื่อใด...
        วันที่ 31 ต.ค. นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ ผอ.เขตคลองเตย กล่าวกับทีมข่าวและได้อธิบายสาเหตุการพังในครั้งนี้ว่า จากสาเหตุพนังกั้นน้ำคลองพระโขนง บริเวณหมู่บ้านเปรมฤทัย ซ.สุขุมวิท 50 พังลงอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 มีความกว้างประมาณ 10 เมตร ขณะนี้ทางสำนักการระบายน้ำ พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้มาดำเนินการในจุดเสียหายแล้ว ส่วนเรื่องของสาเหตุนั้นเกิดขึ้นมาจากแรงดันของมวลน้ำที่มีมาก เช่นเดี่ยวกับสองครั้งที่ผ่านมา การดำเนินการที่จะปิดนั้น ยังไม่สามารถทำได้ ณ เวลานี้ แต่สิ่งที่สามารถทำได้ในตอนนี้ คือ การล้อมน้ำเพื่อลดแรงดันของน้ำให้ลดลง
        ส่วนผลกระทบที่มีต่อชาวบ้าน นั้น ผอ. เขตคลองเตย กล่าวว่า จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในหมู่บ้านเปรมฤทัยและหมู่บ้านเริ่มเจริญ มีน้ำเข้าในพื้นที่ ส่วนในเรื่องของการอพยพนั้นคงไม่ถึงกับต้องอพยพ เพราะน้ำไม่ได้ท่วมมากถึงกับต้องอพยพ แต่จะส่งผลกระทบกับบ้านที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าพื้นถนน ก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ ตอนนี้ ผอ.เขต ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านทุกวันก็จะไม่มีปัญหาในจุดนี้ "ทาง ผอ.เองก็ไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ทุกคนพยายามเต็มที่ ทั้งเจ้าหน้าที่จากสำนักระบายน้ำ เจ้าหน้าที่เขต อปพร. ตำรวจ และทหาร ได้เข้ามาช่วยกัน
        แต่ด้วยความที่พนังค่อนข้างเก่า และแรงดันน้ำที่แรงมาก จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น ทางด้านการป้องกัน ณ ตอนนี้ สำนักการระบายน้ำร่วมกับเขตคลองเตย กำลังพิจารณาหาหนทางแก้ไขให้ดีที่สุด เพราะในเรื่องของการป้องกัน ตลอดจน ระบบระบายน้ำทางด้านของหลักวิชาการและแนวทางการปฏิบัตินั้น ทาง สำนักการระบายน้ำ ทาง นายอดิศักดิ์ ขันตี รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ได้เข้ามาดูในเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ส่วนเขตนั้นมีหน้าที่ให้การสนับสนุนเต็มกำลัง ซึ่งทุกคนก็ทำงานกันอย่างเต็มที่" นางวิภารัตน์ กล่าว.
กทม.เผยแผนที่น้ำท่วมและแผนที่เขตเฝ้าระวัง
        เว็บไซต์เฟซบุ๊กของกทม. The Bangkok Governor ได้เผยแพร่ภาพแผนที่แสดงจุดที่มวลน้ำมาถึง และแสดงพื้นที่อพยพ พื้นที่เฝ้าระวัง และพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ โดยแบ่งเป็นสี 4 สี ดังนี้
 สีชมพู ที่ปรากฏขนาดใหญ่และเป็นจุดตามบริเวณต่างๆ แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ที่น้ำหลากเข้ามา
 
 สีแดง เป็นพื้นที่ที่กทม.ประกาศเป็น พื้นที่อพยพ ได้แก่ เขตทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางพลัด หลักสี่       ดอนเมือง สายไหม
 
 สีส้ม เป็นพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ ได้แก่ บางซื่อ จตุจักร ลาดพร้าว บางเขน วังทองหลาง
 ขณะที่ สีเหลือง เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ได้แก่ คลองสามวา คันนายาว หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง
(ข้อมูล ณ วันที่ 30 ตค.54)
 

4 ความคิดเห็น:

  1. น้ำท่วมครั้งนี้เดือดร้อนทุกย่อมหญ้า เสียด้ายวัดวาอารามที่สวยงามต้องมาพุพังเพราะน้ำท่วม

    ตอบลบ
  2. เดือดร้อนกันทุกคนขณะพระยังไม่เว้นเลย

    ตอบลบ
  3. คนไทยนิแปลกน่ะ พอได้รับความเดือดร้อนด้วยกัน กลับไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก เหมือนแต่ก่อน กลับได้เห็นความสามัคคีของคนไทย

    ตอบลบ